อาจารย์หลักสูตรบริหารธุรกิจ ม.มหิดล เสนอแนะวัฒนธรรม 12 เดือน ชาวมอญสังขละบุรี หาชมได้ยาก

Spread the love

อาจารย์หลักสูตรบริหารธุรกิจ ม.มหิดล เสนอแนะวัฒนธรรม 12 เดือน ชาวมอญสังขละบุรี หาชมได้ยาก เป็นเสน่ห์แห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ ของจังหวัดกาญจนบุรี

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม   2566  อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจ   มหาวิทยาลัยมหิดล  วิทยาเขตกาญจนบุรี  ประกอบด้วย ผศ.ดร.เฉลิมพล ศรีทอง  ผศ.ดร.ธีรพงษ์ เที่ยงสมพงษ์  ร่วมกับนักวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี นางอรพรรณ ศรีทอง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี  ได้เปิดเผย ข้อมูลที่ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์และสรุปด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ที่น่าสนใจ ของจังหวัดกาญจนบุรี

ในความเชื่อด้านพระพุทธศาสนากับความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนชาวมอญ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยพบว่า “ชาวมอญอ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีความเชื่อในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง โดยมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเริ่มตั้งแต่เกิดจนถึงสิ้นสุดชีวิต เห็นได้จากความเชื่อส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้สูงอายุในชุมชนเป็นสำคัญ ดังเช่นแนวความคิดและการริเริ่มประเพณีสำคัญต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากหลวงพ่ออุตตมะ (พระเกจิอาจารย์เชื้อสายมอญ)

นอกจากนี้ ภายในชุมชนชาวมอญ ณ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับศาสนาสถานที่โดนเด่นซึ่งหลวงพ่ออุตตมะได้สร้างไว้เป็นมรดกแก่ชุมชน เช่น วัดวังก์วิเวการามที่มีวัดและโบสถ์ที่ใหญ่ สงบ สวยงาม เหมาะแก่การถือศีลภาวนา เป็นที่ชื่นตาเย็นใจแก่ผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยว มีวิหารที่เป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปหยกขาว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อขาว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีน้ำหนักรวมหกตัน มีเจดีย์พุทธคยาจำลองจากอินเดีย ที่มีพระบรมสาริคธาตุของพระพุทธเจ้าที่ประดิษฐานตระหง่านอย่างสวยงาม ซึ่งสามารถมองเห็นมาแต่ไกลก่อนเข้าถึงเขตตัวอำเภอสังขละบุรี และที่สำคัญมีสะพานมอญ (สะพานอุตตมานุสรณ์) ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของที่นี่

โดยความเชื่อในพระพุทธศาสนาและเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวชุมชนชาวมอญ สามารถแบ่งออกเป็น 12 เดือน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมชมและร่วมพิธี ได้ดังนี้ เดือนมกราคม ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวและลงแขกกวัดข้าว ช่วงเดือนยี่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวหลังจากเกี่ยวและเก็บข้าวเข้าลาน ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยาก เดือนกุมภาพันธ์ ประเพณีทำ “ข้าวยาคู” ชาวมอญเรียกว่า “อะคากกะน้า ฮะปักเปิงยิกุ” ในช่วงเดือนสามจะมีพืชผลเกษตรได้เก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อย ชาวบ้านจะพากันทำข้าวยาคูในวันพระใหญ่ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันมาฆบูชา ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมการทำข้าวยาคูในช่วงเวลาดังกล่าวได้

เดือนมีนาคม ประเพณีบูชาสักการะพระเจดีย์ เป็นงานประจำปีเพื่อการสังการะพระเจดีย์พุทธคยา ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดวังก์วิเวการาม เดือนเมษายน ประเพณีมหาสงกรานต์ เดือน 5 เป็นปีใหม่ของชาวมอญ ถือเป็นงานฉลองและเป็นการร่วมทำบุญและให้ทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวมอญ ซึ่งชาวมอญจะนำทรายไปก่อเป็นเจดีย์ที่วัด โดยรวมกันเป็นองค์เดียวและจะยกฉัตรเจดีย์ทรายในวันรุ่งขึ้นพร้อมทั้งทำบุญกรวดน้ำ จากนั้นจะมี ประเพณียกฉัตรเจดีย์ทราย ในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ชาวมอญที่ร่วมพิธีจะแต่งหน้าพร้อมสวมชุดมอญสีสันสดใส ร่วมแห่ฉัตรยอดเจดีย์ทรายจากวัดไปยังเจดีย์ทรายที่บริเวณลานเจดีย์พุทธคยา ซึ่งประเพณีดังกล่าวถือเป็นเอกลักษณ์ และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน เดือนพฤษภาคม ประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์ จัดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี ทั้งนี้ชาวมอญจะให้การปฏิบัติกับต้นศรีมหาโพธิ์เช่นเดี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดยเชื่อว่าผู้ใดบำรุงกราบไหว้ สักการบูชา ก็เสมือนว่าได้บำรุง กราบไหว้ สักการะ บูชา พระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน ประเพณีออกร้านตลาดนิพพาน ตรงกับวันวิสาขบูชา จัดขึ้นช่วงเย็นชาวบ้านจะออกร้านโดยนำผลไม้ ขนม น้ำดื่มมาตั้งร้าน ผู้มาร่วมพิธีหลังสมาทานศีลจะมารับของจากร้านต่าง ๆ เปรียบเสมือนการนำบุญมาแลกกับอาหารดังกล่าว ผู้ออกร้านก็จะได้บุญแทนเงิน

เดือนมิถุนายน ประเพณีขอขมาพระอุปัชฌาย์ จะมีประเพณีขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และประเพณีบรรพชาอุปสมบท ในช่วงนี้เป็นช่วงก่อนเข้าพรรษาหนึ่งเดือน ชาวมอญนิยมบรรพชาอุปสมบทแก่บุตรชายของตนเอง ส่วนประเพณีขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ โดย พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่ออุตตมะ จะมาพร้อมกันที่วัดวังก์วิเวการามเพื่อมาขอขมาพระเถระผู้ใหญ่ เดือนกรกฎาคม ประเพณีเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา ชาวมอญจะถือดอกไม้ ผ้าอาบน้ำฝน เทินเครื่องไทยธรรมมาถวายพระ ซึ่งจะมีพระภิกษุเดินเป็นแถวตามวิหารคด ลงโบสถ์ เดือนสิงหาคม ประเพณีบุญข้าวนิ เป็นเดือนแห่งการเก็บทรัพย์ มีประเพณีบุญหม้อนิธิ (นิธิ แปลว่า ขุมทรัพย์) ชาวมอญจะทำบุญด้วยการถวายหม้อนิธิ คือ บรรจุวัตถุทานตามต้องการ ได้แก่ ข้าว น้ำ ผ้า ยา และของกินของใช้อื่น ๆ ลงในหม้อ จากนั้นทำการฝังเหมือนเป็นขุมทรัพย์ เดือนกันยายน ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ เป็นการบูชาพระรัตนตรัย ชาวมอญวัดวังก์วิเวการามยังคงสืบสานประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์เช่นเดียวกับชาวมอญในอดีต โดย ช่วงเช้าชาวบ้านมอญถือถาดเครื่องบูชาที่ได้เตรียมไว้ไปยังลานวัดหรือลานเจดีย์ จากนั้นจึงได้นำเครื่องบูชาใส่เข้าในเรือสะเดาะเคราะห์ มีธงตุงกระดาษสีปักไว้ที่ขอบเรือ มีการปล่อยโคมลอยขนาดใหญ่ ตามบ้านเรือนและรายทางก็จะประดับโคมเป็นรูปต่าง ๆ สวยงาม ประเพณีดังกล่าวเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์และจุดเทียนอธิษฐานให้เคราะห์ร้ายในชีวิตได้ผ่านพ้นไป ซึ่งประเพณีดังกล่าวจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยมีนักท่องเที่ยว และผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก

ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีที่ชาวมอญต้องการถวายเภสัช 5 ชนิด ได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยใส เนยข้น น้ำมันงา แก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษา ก่อนออกพรรษา 1 เดือน เพื่อใช้ปรุงยา โดยเชื่อว่าการถวายเภสัชยารักษาโรคจะได้รับผลบุญคือเป็นคนมีโรคน้อย โดยประเพณีดังกล่าวจัดยิ่งใหญ่และมีการสืบทอดกันมาช้านาน เดือนตุลาคม ประเพณีตักบาตรเทโวโลหนะ เป็นงานบุญฉลองวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากโปรดพุทธมารดาที่เทวโลกดาวดึงส์ 1 พรรษา ซึ่งจัดขึ้นตรงกับวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เดือนพฤศจิกายน  ประเพณีทอดกฐิน ประเพณีนี้จะมีช่วงเวลาการทอดกฐินเพียง 1 เดือน โดยเรียกตามภาษามอญว่า “อะแลกะท่อน” แปลว่า ทอดกฐินในเดือนสิบสอง  ชาวมอญจะรวมตัวกันไปจัดตั้งกองผ้าป่าและร่วมกันตัดเย็บจีวร อังสะ สบง และผ้าผืนยาว ภายในหนึ่งเดือนหลังวันปวารณาออกพรรษาของพระภิกษุสงฆ์จะเป็นเทศกาลทอดกฐิน เดือนธันวาคม ประเพณีตำข้าวเม่า “มอญตำข้าวเม่า မန္ထမုက္ပၛာန္” จัดขึ้นในช่วงเดือนอ้ายใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว “ข้าวเม่า” หรือภาษามอญว่า “อะงาน” (ပၛာန္)  ได้มาจากรวงข้าวสีเขียวไล่มาจนถึงสีเขียวตกน้ำตาล เรียกว่าข้าวน้ำนม ส่วนข้าวเหนียวเริ่มเป็นเมล็ดข้าวอ่อน ๆ เหมาะสำหรับตำข้าวเม่า มีทั้งข้าวเม่าข้าวเหนียวและข้าวเหนียวดำ ประเพณีตำข้าวเม่าสืบทอดมาตั้งแต่อดีต มีวัตถุประสงค์เพื่อทำอาหารถวายพระ นอกจากนี้ประเพณีดังกล่าวยังก่อให้เกิดความสนุกสนานเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัวและชุมชน สามารถส่งเสริมให้เกิดเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวและเป็นของฝากของที่ระลึกได้

ผศ.ดร.เฉลิมพล ศรีทอง และคณะ ได้เสนอความเห็นในการการท่องเที่ยว ของจังหวัดกาญจนบุรี กับ ชุมชนชาวมอญ อำเภอสังขละบุรี ว่า “จังหวัดกาญจนบุรี มีศักภาพของแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชาติพันธุ์โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์มอญ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่สืบทอดกันมาและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง อีกทั้งมีรูปแบบของการท่องเที่ยวชุมชนหากต้องการให้เกิดการท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จควรมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ มีการจัดโปรแกรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการขอความร่วมมือกับนักท่องเที่ยวเพื่อให้ความสำคัญ สร้างการตระหนักรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมดังกล่าว

เช่น การเคารพในกฎระเบียบของชุมชน การจัดการขยะ การปฏิบัติตามประเพณีและวิถีชุมชน เพื่อร่วมกันสืบสาน ประเพณีและอนุรักษ์วิถีชุมชนดังกล่าว รวมทั้งช่วยกันสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในทุกเทศกาล สร้างความเชื่อมโยงระหว่างแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ประเพณีและวิถีชีวิตของชาวมอญกับแหล่งท่องเที่ยวหลักของอำเภอสังขละบุรี การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก และรู้คุณค่าของการท่องเที่ยวถือเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งในหลาย ๆ กิจกรรมของชุมชนชาวมอญยังมีโอกาสสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวบนพื้นฐานมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน เช่น โปรแกรมการท่องเที่ยววัดวังก์วิเวการาม เจดีย์พุทธคยา สามารถนำมาเชื่อมโยงกับประเพณีสงกรานต์มอญในเดือนเมษายนของทุกปี หรือให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรมการทำข้าวเม่า กิจกรรมทำข้าวยาคู เพื่อยกระดับให้เป็นของฝากของที่ระลึกชุมชน เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากเป็นการส่งเสริมและยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสัมผัสชาติพันธุ์ ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถจัดทำเป็นปฏิทินกิจกรรม 12 เดือน พร้อมทั้งส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวควบคู่กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป”

ผู้สนใจ สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม โดยส่ง อีเมล์  ได้ที่ ผศ.ดร.เฉลิมพล ศรีทอง  อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจ  มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี     chaloempon.sri@mahidol.ac.th

ความคิดเห็น

ความคิดเห็น

Author: admin